การขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ (Lack of Critical Thinking) เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน เด็กปฐมวัยเกิดมาพร้อมกับเซลล์สมอง 1 แสนล้านเซลล์ที่พร้อมได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีพื้นฐานของสมองที่เอื้อต่อการเรียนรู้โดยสัมพันธ์กับการพัฒนาด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ จิตใจ และด้านสังคม การคิดเป็นหัวใจของการพัฒนาในทุกๆด้าน เด็กปกติและเด็กพิเศษทุกคนควรได้รับการประเมินและส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้เขาประสบความสำเร็จและก้าวหน้าในการเรียนรู้และอยู่รอดทั้งในวันนี้และในอนาคต
ในปัจจุบัน ประเทศไทยค่อนข้างตื่นตัวในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในส่วนของภาคการศึกษาที่เร่งพัฒนาคุณภาพของนักเรียนไทย และการเรียนการสอนให้ทัดเทียมกับประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาความรู้ด้านวิชาการ และทักษะภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ ซึ่งทักษะนี้เป็นหัวใจของการพัฒนาของมนุษย์ ศาสตร์แห่งการศึกษาด้านประสาทวิทยาในช่วงสิบปีที่ผ่านมา สร้างความตื่นตัวแก่ภาคการศึกษาที่ต่างหันมาให้ความสนใจในการพัฒนาสมองของมนุษย์ในช่วงปฐมวัยสูงที่สุด ด้วยเหตุที่การพัฒนาสมองเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา และการเรียนรู้ โดยเฉพาะช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่สมองของเด็กมีการเติบโตมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่รอยเชื่อมต่อของเซลล์สมองแต่ละเซลล์จะถูกสร้างขึ้น และมีการเชื่อมโยงของเซลล์สมองมากถึงพันล้านนิวตรอน
ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ในเด็ก จึงต้องให้ความสำคัญต่อการกระตุ้นการพัฒนาสมองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งเด็กคลอด และพัฒนาต่อไปจนอายุ 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่สมองของเด็กมีการเติบโตมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ และสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องจนถึง 7 ปี หากมีการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การได้กลิ่น การได้ยิน การได้รับ และการได้สัมผัส การทำงานของสมองจะส่งกระแสไฟฟ้าผ่านเส้นใยของเซลล์ประสาท และทำให้เกิดการทำงานเชื่อมประสานเส้นใยสมองและจุดเชื่อมโยงต่างๆ ซึ่งเป็นผลทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆหรือต่อยอดองค์ความรู้เพิ่มขึ้น ทำให้เด็กได้เกิดการพัฒนาทักษะการตัดสินใจ การแก้ปัญหา รวมถึงด้านวิชาการอย่างรอบด้าน
ปัญหาการขาดทักษะการคิดวิเคราะห์มีลักษณะอย่างไร?
ทักษะการคิดวิเคราะห์เบื้องต้นมีอยู่แล้วในตัวเด็กแต่ละคน จะมีมากมีน้อยก็ขึ้นอยู่กับลักษณะทางพันธุกรรม สิ่งแวด ล้อม การดูแลเลี้ยงดูของพ่อแม่ และพรสวรรค์ที่แต่ละคนได้รับพร้อมกับการเกิดมาเป็นมนุษย์
ปัญหาการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ในเด็กค่อนข้างซับซ้อน และอาจต้องใช้การสังเกตร่วมกันไปกับพัฒนาการด้านอื่นๆ ผู้ ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กอาจต้องสังเกตพฤติกรรมการแสดงออกในลักษณะต่างๆ ดังนี้
- เด็กมีการพัฒนาการทางร่างกายที่ไม่เป็นไปตามวัย ค่อนข้างช้า หรือเด็กยังคงมีพฤติกรรมเหมือนทารกทั้งๆที่เรียนอยู่ระ ดับอนุบาลแล้ว
- เด็กขาดทักษะในการสื่อสาร หรือมีทักษะการสื่อสารอยู่ในระดับต่ำ โดยไม่สามารถที่จะคิดเชื่อมโยงในการสร้างประ โยคสื่อสารง่ายๆได้ พูดไม่ชัด หรือไม่พูดเลย
- เด็กมีทักษะระดับต่ำในการเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ๆ และมีทักษะการช่วยเหลือตนเอง รวมถึงทักษะดูแลตนเองตามวัยในระดับต่ำ
- เด็กไม่สามารถใช้ความคิดวิเคราะห์เชื่อมโยงในการจับคู่รูปทรง ประเภท และสีของสิ่งของได้ ไม่สามารถแยกความเหมือนและความต่างของสิ่งของได้ รวมไปถึงไม่สามารถเข้าใจและใช้กระบวนการคิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้
- เด็กไม่สามารถบอกความต้องการในสิ่งที่อยากรู้ได้ ไม่สามารถบอกได้ว่าตนเองรู้อะไร หรือต้องการรู้อะไร อาจกล่าวได้ว่าเด็กไม่มีกระบวนการสงสัยใคร่รู้เลย
- เด็กมีสมาธิต่ำ อยู่ไม่นิ่ง รวมไปถึงมีทักษะในการปรับตัวเข้ากับสถานที่หรือสถานการณ์ใหม่ๆอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น เมื่ออยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ใหม่ๆที่ไม่คุ้นชิน มักแสดงพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ออกมามากกว่าปกติหากพบว่าเด็กอนุบาลมีอาการที่กล่าวไปแล้วมากกว่ากึ่งหนึ่งจาก 3 ใน 6 ข้อ ถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อให้ปัญหาบรรเทาลง และช่วยให้เด็กมีความพร้อมก่อนการเข้าโรงเรียนต่อไป
ปัญหาการขาดทักษะการคิดวิเคราะห์มีสาเหตุมาจากอะไร?
ปัญหาการขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ในเด็กนั้น ในทางการแพทย์ไม่ได้ถือว่าเป็นโรคและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต จึงถือได้ว่าเป็นเพียงแค่ความผิดปกติประเภทหนึ่ง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกตินี้มีหลายมูลเหตุ ซึ่งไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด แต่สามารถแบ่งคร่าวๆได้เป็นสามมูลเหตุ ดังนี้
- เกิดจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นเอง เช่น ความผิดปกติของโครโมโซมหรือพันธุกรรม ความผิดปกติของร่างกาย เช่น มีความผิดปกติทางสายตา การได้ยิน จึงมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบต่อทักษะการคิดวิเคราะห์ได้ หรืออาจเป็นโรคบางอย่าง เช่น “Pervasive Developmental Disorders” ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน แสดงอาการอย่างชัดเจนในวัยเด็ก ก่อให้เกิดพัฒนาการทางด้านความสัมพันธ์ทางสังคม การสื่อสาร และรวมไปถึงทักษะการคิดวิเคราะห์ ไม่เป็นไปตามปกติ เป็นต้น
- เกิดจากการดูแลช่วงที่อยู่ในครรภ์มารดา เช่น ระหว่างตั้งครรภ์ หากมารดารับประทานอาหารไม่เพียงพอหรืออาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือมีอารมณ์เครียด หงุดหงิด หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษมีสารพิษ เช่น สารตะกั่ว อาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาทางสมองและการคิดวิเคราะห์ได้
- เกิดจากการดูแลช่วงที่เพิ่งคลอด เช่น หากมีการคลอดก่อนกำหนด เด็กขาดสารอาหารหรือมีปัญหาเรื่องความผิดปกติของน้ำหนักตัวที่มากเกินไป หรืออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีสารพิษและได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย เช่น สารตะกั่ว มีระบบการเผาผลาญผิดปกติ อาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาทางสมองและการคิดวิเคราะห์ได้
การช่วยเหลือเด็กที่ขาดทักษะการคิดวิเคราะห์มีความสำคัญอย่างไร?
ทักษะการคิดวิเคราะห์เป็นหัวใจของพัฒนาการของมนุษย์ ด้วยเหตุที่มนุษย์เราต่างจากสัตว์เพราะเรามีกระบวนการคิดตั้งแต่กำเนิด และสามารถพัฒนาทักษะทางความคิดได้อย่างไร้ขีดจำกัด ปัญหาที่เราอาจจะเคยได้ยินว่า “เด็กไทยคิดไม่เป็น” ไม่ ใช่เรื่องไกลตัวเลยสักนิด ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาสังคมมากมาย เช่น เด็กสาวต้องการให้ตัวเองเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน จึงทำ ตามสิ่งที่กลุ่มเหล่านั้นนิยมทำกันโดยขาดกระบวนการ “คิดวิเคราะห์” “ไม่ได้ยั้งคิด” “ไม่ได้ไตร่ตรอง” ขาดการพิจารณาว่า “การกระทำ” นั้นๆควรหรือไม่ควรกระทำ ดังนั้น การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์จึงเป็นสิ่งจำเป็น และจะช่วยส่งเสริมการปูพื้นฐานทางสมองที่ดีให้แก่เด็กต่อไปในทุกด้าน โดยเฉพาะช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 ขวบเป็นช่วงที่สมองของเด็กมีการเติบโตมาก กว่าช่วงวัยอื่นๆ เพราะช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่รอยเชื่อมต่อของเซลล์สมองแต่ละเซลล์จะถูกสร้างขึ้น และมีการเชื่อมโยงของเซลล์สมองนับพันล้านนิวตรอน จึงอาจกล่าวได้ว่า
- การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการคิดวิเคราะห์ จะทำให้เด็กพัฒนาความคิดให้รู้จักคิดเป็น วิเคราะห์ได้ว่าอะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ และรู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงควรปลูกฝังในการดำเนินชีวิตในสังคม อีกทั้งยังเป็นการทำให้เด็กพัฒนาความคิดจนต่อยอดองค์ความรู้ให้กับตนเองได้ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเรียนรู้ระยะยาวในด้านวิชาการ และเป็นการส่งเสริมให้เด็กฉลาดขึ้นต่อไป
- การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาการคิดวิเคราะห์ จะทำให้เด็กเกิดความสามารถในการคิดย้อนกลับว่าอะไรคือสาเหตุ (Cause) อะไรคือผล (Effect) ด้วยการตอบคำถามว่า อะไรเกิดขึ้น เกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวต่างๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีตรรกะ มีเหตุมีผล ในการดำเนินชีวิตในสังคมต่อไป
พ่อแม่ผู้ปกครองจะแก้ไขปัญหาเด็กขาดทักษะการคิดวิเคราะห์ได้อย่างไร?
เนื่องจากปัญหานี้ไม่ใช่โรคที่เป็นอันตรายถึงชีวิต เป็นเพียงความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น พ่อแม่จะต้องมีกำลังใจที่ดี ปรับทัศนคติที่มีต่อปัญหาของเด็กก่อน พ่อแม่จะต้องมองโลกในแง่ดี ใจเย็นและอดทนต่อเด็ก พยายามไม่หงุดหงิด และต้องเข้าใจว่า เด็กที่มีปัญหาดังกล่าว ต้องการเวลามากในการเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง พ่อแม่จึงต้องให้เวลาเขา โดยไม่เร่งรัด อดทนที่จะพูดซ้ำๆ บอกประโยคนั้นๆซ้ำๆกับเด็ก เคล็ดลับที่พ่อแม่สามารถคลี่คลายปัญหา ควรใช้วิธีการดังต่อไปนี้
- การดูแลเรื่องอาหารการกิน รับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ ให้ไม่ขาดสารอาหารโดยเหมาะสมกับช่วงอายุของเด็ก ว่าเด็กควรได้รับสารอาหารอะไร ควรเพิ่มสารอาหารอะไร อีกทั้งจะต้องเลี่ยงอาหารขยะที่ไม่มีประโยชน์มีแต่โทษต่อร่างกายและระบบสมอง อันมีผลต่อการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์
- ให้เด็กได้เล่นของเล่นส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง เด็กๆมักจะเรียนรู้ผ่านการเล่น ปัจจุบันมีของเล่นที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์แก้ปัญหามากมาย เช่น กล่องหยอดบล็อกรูปทรงต่างๆ เป็นต้น
- เล่านิทานให้ลูกฟังโดยใช้หนังสือภาพ จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของภาษาและการสื่อสาร กระตุ้นทักษะการคิด จินตนาการ สมาธิ การเห็นภาพผ่านตา ซึ่งหากมีการเล่าเรื่องจะทำให้เด็กคิดตามได้ง่ายขึ้น
- การสอนโดยบอกขั้นตอนให้ละเอียดมากขึ้น เด็กเข้าใจกระบวนการคิดแบบเป็นขั้นเป็นตอนได้ค่อนข้างยาก อย่างเช่น ถ้าบอกให้ไปแต่งตัว เด็กอาจไม่เข้าใจว่าต้องทำอะไรก่อน พ่อแม่จึงต้องค่อยๆสอน ต้องค่อยๆบอกรายละเอียดขั้นตอนว่า ต้องสวมเสื้อ ติดกระดุม สวมกางเกง รูดซิป ใส่รองเท้า เป็นต้น อีกทั้งอาจจะต้องมีการพูดซ้ำๆบ่อยๆเพื่อให้เด็กจำได้
- การสอนเสริมควบคู่ไปกับโรงเรียนอนุบาล พ่อแม่ต้องสอนเสริมเด็กอีกครั้งที่บ้านเพื่อเป็นการย้ำ ทำซ้ำ อีกครั้ง โดยพ่อแม่ต้องให้เวลาในการพูดคุยกับลูกอยู่เสมอ เปิดโอกาสให้ลูกได้ถามหรือตอบเกี่ยวกับเรื่องที่เรียนมา อาจเริ่มจากหัวข้อว่า วันนี้ไปโรงเรียนสนุกไหม เรียนเรื่องอะไรบ้าง การถามบ่อยๆเป็นการกระตุ้นให้เด็กเกิดทักษะการคิดรูปแบบหนึ่งด้วย
- การสร้างสิ่งแวดล้อมต่างๆที่ปลอดภัยเหมาะสมต่อการเรียนรู้ เพื่อให้เขาได้สำรวจสิ่งต่างๆรอบตัวอย่างอิสระ โดยไม่ปิดกั้นสมองของเด็กเติบโต เพราะการได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ สภาพแวดล้อมต้องปลอดภัยจากปลั๊กไฟ มีด ของมีคมและของที่จะก่อ ให้เกิดอันตรายต่างๆ เพื่อให้เด็กได้ลงมือสำรวจเรียนรู้ด้วยตัวเองโดยปลอดภัย เป็นการกระตุ้นทักษะการคิดและแก้ปัญหาได้ดี
เกร็ดความรู้เพื่อครู
ครูอนุบาลมีส่วนช่วยเสริมสร้างให้เด็กปฐมวัยมีทักษะและการพัฒนาทางความคิดได้โดยใช้เคล็ดลับ 4 ประการ ดังต่อไปนี้
- ดูแลเรื่องอาหารซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อเด็กปฐมวัย เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต ทั้งทางร่างกายและสมอง ครูจะต้องจัดให้เด็กได้รับประทานอาหารอย่างเพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการ
- จัดสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้อย่างปลอดภัย อีกทั้งควรจะทำให้น่าสนใจและกระตุ้นการถามตอบกับเด็กเสมอ
- ตัวครูเองเป็นสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ของเด็กด้วยเช่นกัน จึงต้องใช้การสื่อสารที่เข้าใจง่าย เช่น ใช้คำพูดง่ายๆ ประโยคไม่ซับ ซ้อน เป็นต้น
- จัดหาอุปกรณ์และสื่อการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรและกิจกรรมและมีความน่าสนใจ อาจจัดกิจกรรมง่ายๆให้ได้เคลื่อนไหวร่างกายเข้ากับบทเรียนนั้นๆด้วยตัวเอง หรือใช้สื่อหนังสือภาพประกอบการเล่าเรื่อง เพื่อเสริมกระบวนการคิด เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น